ประวัติความเป็นมา


ค่ายเนินวง สร้างในรัชกาลที่ 3 มูลเหตุมาจากกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ซึ่งยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงนครราชสีมา อันเป็นที่เกิดวีรกรรมเท้าสุรนารีขึ้น ทางกรุงเทพฯส่งกองทัพขึ้นไปปราบปรามจนเจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวนกลายเป็นเรื่องบาดหมาง ทำให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับญวน จึงสร้างขึ้นเพื่อเตรียมรับศึกญวน



จันทบุรีเป็นหัวเมืองชายทะเล เดิมตั้งอยู่ที่ ต.บ้านลุ่มฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ภูมิประเทศไม่เหมาะจะเป็นฐานทัพ รัชกาลที่ 3 ทรงเกรงว่าญวนจะมายึดเอาได้จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เลือกหาชัยภูมิ มาได้ที่บ้านเนินวง เป็นเนินเล็กๆ พื้นที่สูงสามารถเห็นข้าศึกถึงปากแม่น้ำจันทบุรี เหมาะแก่การตั้งมั่นอย่างยิ่ง จึงลงมือสร้างเมื่อพ.ศ.2377 สร้างอย่างถูกหลักยุทธศาสตร์ โดยสร้างเป็นเมืองป้อม เมืองป้อมเนินวง เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีพื้นที่ประมาณ 270 ไร่ สร้างกำแพงสูง ๖ เมตร ล้อมรอบมีป้อม คูน้ำ แลtประตูสี่ทิศ มีปืนใหญ่จุกช่องตามกำแพงเมือง ตั้งเรียงรายไปตามช่องใบเสมา ตั้งจังก้าพร้อมทำการยิง และเป็นปืนใหญ่ที่ขนาดกว้างปากลำกล้องน่าจะเกิน ๑๕๕ มม.



     ค่ายเนินวง เป็นโบราณสถานที่อยู่ใกล้ตัวเมืองในเขต อ.เมือง จันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองจันทร์ และเป็นแหล่งโบราณคดี ที่มีสวนผลไม้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ คือ สวนสละ ที่มีชื่อเสียงของจันทบุรี ที่เรียกกันว่า "สละเนินวง"

   เมื่อชมค่ายเนินวงแล้วก็ต้องมาชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี ประวัติศาสตร์ใต้ท้องทะเล ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่ากับการศึกษาประวัติศาสตร์ในภาคพื้นดินจังหวัดจันทบุรีมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับกาเดินเรือมาอย่างยาวนาน โบราณคดีต่างๆ ที่ถูกค้นพบใต้ท้องทะเล ถูกรวบรวมมาไว้ที่นี่


 กรมศิลปากรได้เริ่มมีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า วิจัยทางด้านโบราณคดีใต้น้ำขึ้นในประเทศไทยซึ่งจากการปฏิบัติงานสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำในท้องทะเลไทย ทำให้มีจำนวนโบราณวัตถุจากแหล่งเรือสำเภาโบราณจมเพิ่มมากขึ้น การเตรียมการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านกับการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำและประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวีของไทย จึงเป็นงานสำคัญที่ต้องดำเนินงานเป็นลำดับต่อมา  ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๕๓๕ กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุจำนวนมากจากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการลักลอบงมโบราณวัตถุจากซากเรือสำเภาโบราณจมใต้ ทะเลบริเวณอ่าวไทย นับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่พบจากท้องทะเลไทย ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยในการสืบค้นความเป็นมา และบอกเล่าถึงเรื่องราวทางเศรษฐกิจการพาณิชย์นาวีในอดีตได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงมีนโยบายเร่งด่วนในการจัดสร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวม อนุรักษ์ ศึกษาและจัดแสดงด้านประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวี โดยได้รับงบประมาณในการดำเนินงานในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ บริเวณโบราณสถานค่ายเนินวง ตำบลบางกะจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี